จุลชีววิทยา เรียนอะไร แล้วเรียนที่ไหนได้บ้าง?
จุลชีววิทยา เรียนอะไร แล้วเรียนที่ไหนได้บ้าง? เชื่อว่าน้อง ๆ ที่เรียนสายวิทย์-คณิต ในระดับชั้นมัธยมหลาย ๆ คน ล้วนเรียนเพื่อต้องการเข้าศึกษาต่อคณะวิทยาศาสตร์โดยตรง ในระดับมหาวิทยาลัยทั้งนั้น และเมื่อพูดถึงการศึกษาต่อในคณะวิทยาศาสตร์ สาขาหนึ่งที่หลายคนสนใจ คงต้องยกให้จุลชีววิทยา (Microbiology) ส่วนใหญ่แล้วสาขาวิชานี้ จะเรียนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมขนาดเล็กหรือจุลินทรีย์ ทั้งที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น เห็ด, รา ฯลฯ และที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น แบคทีเรีย, ไวรัส, โปรตัวซัว และสาหร่ายบางชนิด ฯลฯ ส่วนเรื่องการเรียนแบบเจาะลึก จะมีสาขาไหนน่าสนใจบ้าง และน้อง ๆ มัธยมจะสามารถเข้าศึกษาที่ไหนได้บ้าง ตามไปดูพร้อมกันเลยค่ะ

จุลชีววิทยา เรียนเกี่ยวกับอะไรเป็นหลัก
อย่างที่กล่าวไปตอนแรก ว่าการศึกษาเกี่ยวกับชีววิทยา หรือจุลชีววิทยา เป็นการศึกษาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และจุลินทรีย์ แต่ลึกลงไปกว่านั้นสาขาวิชานี้ จะช่วยทำให้เราได้ผลิตภัณฑ์ที่ประโยชน์มากยิ่งขึ้น เช่น ยีสต์ที่ใช้ในการผลิตแอลกอฮอล์สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงหรือใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม การผลิตยาปฏิชีวนะจากแบคทีเรียชั้นสูงหรือเชื้อราบางชนิดที่มีประโยชน์ในการรักษาโรคต่าง ๆ เช่น Clostridium botulinum ที่จะทำให้เกิดพิษในนมหรืออาหารประเภทหมักชนิดต่าง ๆ โดยที่มนุษย์เราได้มีการนำเชื้อแบคทีเรียนี้มาประยุกต์ใช้ในทางการเกษตร เพื่อใช้เป็นตัวช่วยในการบำบัดสิ่งแวดล้อมให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น สาขานี้จึงเป็นสาขาวิชา ที่มีน้อง ๆ สนใจเข้าศึกษาเป็นอันดับต้น ๆ
จุลชีววิทยา ต้องศึกษาด้านไหนบ้าง
- การศึกษาแบคทีเรีย (Bacteriology)
- การศึกษาเห็ด รา และยีสต์ (Mycology)
- การศึกษาไวรัส (Virology)
- การศึกษาระบบภูมิคุ้มกัน (Immunology)
เนื้อหาของการสอน ที่น้อง ๆ จะต้องเจอ
- สรีรวิทยาของจุลินทรีย์ ผู้เรียนจะศึกษาหน้าที่ทางชีวเคมี การเจริญเติบโต เมตาบอลิซึม และโครงสร้างของเซลล์ของจุลินทรีย์เป็นหลัก
- พันธุศาสตร์ของจุลินทรีย์ ผู้เรียนจะต้องศึกษาความสัมพันธ์ ระหว่างหน้าที่ของเซลล์ในจุลินทรีย์ และการสร้างหรือควบคุมยีน ซึ่งสาขานี้มีความเกี่ยวข้องกับอณูชีววิทยาด้วย
- จุลชีววิทยาทางการแพทย์ ผู้เรียนจะต้องศึกษาบทบาทของจุลินทรีย์ในโรคของมนุษย์ กระบวนการก่อโรคของจุลินทรีย์ และระบาดวิทยา ซึ่งสาขานี้มีความเกี่ยวข้องกับพยาธิวิทยาและวิทยาภูมิคุ้มกันด้วย
- จุลชีววิทยาของสิ่งแวดล้อม ผู้เรียนจะต้องศึกษาหน้าที่และความหลากหลายของจุลินทรีย์ในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ รวมทั้งนิเวศวิทยาของจุลินทรีย์ และบทบาทของจุลินทรีย์ในวัฏจักรสารอาหาร
- จุลชีววิทยาของอุตสาหกรรม ผู้เรียนจะต้องศึกษาการใช้จุลินทรีย์ ในกระบวนการทางอุตสาหกรรม เช่น การหมัก การบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น ซึ่งสาขานี้มีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชีวภาพด้วย
- จุลชีววิทยาของอากาศ ผู้เรียนจะศึกษาเกี่ยวกับจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในอากาศเป็นหลัก
- จุลชีววิทยาของอาหาร ผู้เรียนจะศึกษาการเน่าเสียของอาหารที่มีสาเหตุมาจากจุลินทรีย์เป็นหลัก
มหาวิทยาลัยของรัฐ และเอกชน ที่เปิดให้ศึกษาสาขาจุลชีววิทยา
- ภาควิชาชีววิทยา (สาขาวิชาจุลชีววิทยาอุตสาหกรรม, สาขาวิชาจุลชีววิทยาอุตสาหกรรม หลักสูตรนานาชาติ) คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- สาขาวิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- สาขาวิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- สาขาวิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวทิยาลัยทักษิณ
- สาขาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
- สาขาจุลชีววิทยาอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
- สาขาวิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- สาขาวิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี
- ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
- ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

เรียนจบจุลชีววิทยามา ทำอะไรได้บ้าง?
- เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการด้านจุลชีววิทยาทางการเกษตร, อาหาร, อุตสาหกรรม, การแพทย์, สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีชีวภาพ
- เจ้าหน้าที่ควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์
- เจ้าหน้าที่วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์
- เจ้าหน้าที่ควบคุมคุณภาพน้ำ
- นักวิจัย หรือนักวิชาการในสถานประกอบการต่าง ๆ
- ตัวแทนจําหน่ายสารเคมี, อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์
- ผู้ประกอบการอิสระทางด้านจุลชีววิทยา
ความจริงในเรื่องอาชีพ สาขาวิชานี้จบมาแล้วสามารถประกอบอาชีพได้อย่างหลากหลาย โดยบางครั้งหากท่านศึกษาต่อเฉพาะทางในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก หรือไม่ก็ลองสอบใบประกอบวิชาชีพครูควบคู่กันไป ผู้เรียนสามารถที่จะมาเป็นครู หรืออาจารย์ในระดับมหาวิทยาลัยได้เลย ฉะนั้น สาขาวิชาจุลชีววิทยา จึงเป็นหนึ่งสาขาวิชาที่น่าเรียน และประกอบอาชีพได้อย่างหลากหลาย
หากน้อง ๆ ชื่นชอบการทดลอง การเข้าห้องแล็ป ตลอดจนทำสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ หรือสิ่งทีมนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จุลชีววิทยาจะช่วยให้ท่านเห็นสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นได้เป็นอย่างดี เดี๋ยวนี้โลกของเรามีแบคทีเรียหลายชนิด เกิดขึ้นมาในโลกแทบทุกวัน แบคทีเรียบางชนิดอาจจะส่งผลดีกับมนุษย์ ในขณะที่แบคทีเรียบางชนิด อาจจะสร้างโทษและสร้างโรคร้ายแรงให้มนุษย์ จะดีแค่ไหนหากน้อง ๆ สามารถรู้เรื่องแบคทีเรียเหล่านั้นได้ และสามารถนำมันออกมาใช้อย่างถูกต้องและเกิดประโยชน์
ส่วนเรื่องสถานที่เรียน น้อง ๆ สามารถหาข้อมูลการเรียน อัตราค่าเรียน และส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง กับสถาบันที่สนใจได้โดยตรง ไม่ว่าเราจะเรียนอะไร ขอแค่เป็นสิ่งที่ชอบหรือสนใจ เราจะสามารถทำมันออกมาได้ดีเสมอ ฉะนั้น ทุกครั้งที่น้อง ๆ จะต้องเลือกคณะหรือสาขาวิชาเข้าศึกษาต่อ ขอให้น้อง ๆ เลือกคณะหรือสาขาที่ชอบเป็นหลัก เท่านั้นก็เพียงพอที่จะทำให้น้อง ๆ ประสบความสำเร็จในการศึกษาได้แล้ว
สำหรับใครที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องการแพทย์ ต้องอ่านบทความนี้ต่อได้เลย 8 สาขาแพทย์ศาสตร์ ที่น่าสนใจ รับรองคุณจะได้ความรู้เพิ่มเติมอย่างแน่นอน
อ่านบทความสาระน่ารู้ เพิ่มเติม บริหารการเงินด้วย 5 วิธี ในยุควิกฤติ COVID-19